วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต

ใบไม้
ขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่าที่สงบ ที่นี่ไม่มีลม ใบไม้จึงนิ่ง เมื่อใดที่มีลมพัด ใบไม้จึงไหวปลิว จิตก็ทำนองเดียวกับใบไม้ เมื่อสัมผัสกับอารมณ์มันก็สะเทือนไปตามธรรมชาติของจิต เรายิ่งรู้ธรรมะน้อยเพียงไร ใจก็จะรับความสะเทือนได้มากเพียงนั้น รู้สึกเป็นสุข ก็ตายด้วยความสุข รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ตายด้วยความทุกข์อีกมันจะไหลไปเรื่อย ๆ

น้ำเจือสี
ใจของเราขณะที่เป็นปกติอยู่ เปรียบเหมือนน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป จิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดีใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบาย เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียวก็เขียวไป ถูกสีเหลืองก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย

อยู่กับงูเห่า
ขอให้โยมจำไว้ในใจ อารมณ์ทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้มันเหมือนงูเห่าซึ่งมีพิษมาก ถ้ามันฉกคนแล้ว ก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์นี้ก็เหมือนงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทำให้จิตใจของเราไม่เสรี ทำให้จิตใจไขว้เขว จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ปล่อยพิษงูไป
อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้วก็จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งที่มีพิษอยู่ในตัวมันนั่นเอง

สอนเด็ก
ฉะนั้น การปฏิบัตินี้จึงว่านั่ง นั่นแหละปฏิบัตินั่ง ดูไปมันมีอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว สลับซับซ้อนกันไปเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว อย่าไปให้โทษมันอย่างเดียว ให้รู้จักกาล รู้จักเวลามัน เมื่อถึงคราวสรรเสริญ ก็สรรเสริญมันหน่อย สรรเสริญให้พอดีอย่าให้หลง เหมือนกับสอนเด็กนั่นแหละ บางทีก็เฆี่ยนมันบ้าง เอาไม้เรียวเล็ก ๆ เฆี่ยนมัน ไม่เฆี่ยนไม่ได้ อันนี้บางทีก็ให้โทษมันบ้าง อย่าให้โทษมันเรื่อยไป ให้โทษมันเรื่อยไปมันก็ออกจากทางเท่านั้นแหละ ถ้าให้สุขมันให้คุณมันเรื่อย ๆ มันไปไม่ได้

เด็กซุกซน
เปรียบกับเด็กที่ซุกซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญจนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนี้เอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อน รำคาญของเราก็หมดไป เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราจึงเปลี่ยนไป เรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวางได้ จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิ ทีนี้ก็หมดปัญหาที่จะต้องแก้

รับแขก
เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไรโบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหน มีที่นั่งเดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน นี่คือพุทโธ ตัวตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ทำความรู้นี้ไว้ จะได้รักษาจิต เรานั่งอยู่ตรงนี้ แขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็ก ๆ โน้น มาทีไรก็มาที่นี่หมด เราจึงรู้จักมันหมดเลย พุทโธอยู่คนเดียว พูดถึงอาคันตุกะ แขกที่จรมาปรุงแต่งต่าง ๆ นานา เราให้เป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละเรียกว่า เจตสิก มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เองเราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้ว มันก็ไม่มีที่นั่งมันมาที่นี่ มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง ครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไรก็พบผู้ที่นั่งอยู่ ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้ง เพียงพูดกันอยู่ที่นั่น เราก็จะรู้จักหมดทุกคน พวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้น มันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละ

บุรุษจับเหี้ย
วิธีกำหนดอารมณ์ จับอารมณ์ ให้รู้จักจิตของตนให้รู้จักอารมณ์ของตน เปรียบโดยวิธีที่บุรุษทั้งหลายจับเหี้ย เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกที่มีรูอยู่หกรู ก็ปิดรู้นั้นๆเสียห้ารู เหลือรูเดียวให้เหี้ยออก แล้วนั่งจ้องมองที่รูเดียวนั้น เหี้ยออกมาก็จับได้ ฉันใด การกำหนดจิตก็ฉันนั้น ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย เหลือแต่จิตอันเดียวเปิดไว้ คือ การสำรวมสังวร กำหนดจิตอย่างเดียว
การภาวนาก็เหมือนกับบุรุษจับเหี้ย คือกำหนดจิตให้อยู่ที่ลมหายใจ มีสติ ระมัดระวังรู้อยู่แล้ว กำลังทำอะไร มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น คือรู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น ทำให้รู้จัก

แมงมุม
ได้ไปเห็นแมงมุมเป็นตัวอย่าง แมงมุมทำรังของมันเหมือนข่าย มันสายข่ายไปขึงไว้ตามช่องต่าง ๆ เราไปนั่งพิจารณาดูมัน ทำข่ายขึงไว้เหมือนจอหนัง เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวเองเงียบอยู่ตรงกลางข่าย ไม่วิ่งไปไหน พอมีแมลงวันหรือแมลงอื่นบินผ่านข่ายของมัน พอถูกข่ายเท่านั้น ข่ายก็สะเทือน พอข่ายสะเทือนปุ๊บ มันก็วิ่งออกจากรังทันที ไปจับตัวแมลงไว้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวของมันไว้ที่กลางข่ายเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีผึ้งหรือแมลงอื่นใดมาถูกข่ายของมัน พอข่ายสะเทือน มันก็วิ่งออกมาจับแมลงนั้น แล้วก็กลับไปเกาะนิ่งอยู่ที่กลางข่ายไม่ให้ใครเห็นทุกทีไป เห็นแมงมุมทำอย่างนี้ เราก็มีปัญญาแล้ว อายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจนี้อยู่ตรงกลาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แผ่พังพานออกไป อารมณ์นั้นเหมือนแมลงต่าง ๆ พอรูปมาก็ถึงตา เสียงมาก็ถึงหู กลิ่นมาก็ถึงจมูก รสมาก็ถึงลิ้น โผฏฐัพพะมาก็ถึงกาย ใจเป็นผู้รู้จัก มันก็สะเทือนถึงใจ แค่นี้ก็เกิดปัญญาแล้ว
เราจะอยู่ด้วยการเก็บตัวไว้ เหมือนแมงมุมที่เก็บตัวไว้ในข่ายของมัน ไม่ต้องไปไหน พอแมลงต่าง ๆ มันผ่านข่าย ก็ทำให้สะเทือนถึงตัว
รู้สึกได้ก็ออกไปจับแมลงไว้ แล้วก็กลับอยู่ที่เดิม ดูแมงมุมแล้วก็น้อมเข้ามาหาจิตของเรา มันก็เหมือนกันเท่านั้น ถ้าจิตเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันกว้าง ไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข์อีกแล้ว ก็เห็นชัดได้อย่างนี้ มันก็ได้ความเท่านั้นแหละ จะทำอะไรอยู่ก็สบาย ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วมีแต่การภาวนาจะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น

คลื่นกระทบฝั่ง
เรื่องทุกข์เรื่องไม่สบายใจนี่มันก็ไม่แน่หรอกนะ มันเป็นของไม่เที่ยง เราจับจุดนี้ไว้ เมื่ออาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นมา เรารู้มันเดี๋ยวนี้ เราวาง
กำลังอันนี้จะค่อย ๆ เห็นทีละน้อย ๆ เมื่อมันกล้าขึ้น มันข่มกิเลสได้เร็วที่สุด ต่อไปมันเกิดตรงนี้ มันดับตรงนี้ เหมือนกับน้ำทะเลที่กระทบฝั่ง เมื่อขึ้นมาถึงฝั่งมันก็ละลายเท่านั้น คลื่นใหม่มาอีก มันก็ละลายต่อไปอีก มันจะเลยฝั่งไปไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ฝั่งทะเลอารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามามันก็เท่านั้นแหละ

เลื่อย
แต่เมื่อมันรู้เห็นหมดแล้ว ธรรมะก็ไม่ได้แบกเอาไปด้วยอย่างเลื่อยคันนี้ เขาจะเอาไปตัดไม้ เมื่อเขาตัดไม้หมดแล้ว อะไรก็หมดแล้ว เลื่อยก็เอาวางไว้เลย ไม่ต้องไปใช้อีก เลื่อยก็คือธรรมะ ธรรมะต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล ถ้าหากว่ามันเสร็จแล้ว ธรรมะที่อยู่ก็วางไว้ เหมือนเลื่อยที่เขาตัดไม้ ท่อนนี้ก็ตัด ท่อนนี้ก็ตัด ตัดเสร็จแล้วก็วางไว้ที่นี่ อย่างนั้น เลื่อยก็ต้องเป็นเลื่อย ไม้ก็ต้องเป็นไม้ นี่เรียกว่าถึงหยุดแล้ว ถึงจุดของมันที่สำคัญแล้ว สิ้นการตัดไม้ ไม่ต้องตัดไม้ ตัดพอแล้ว เอาเลื่อยวางไว้

ดาวน์โหลดไฟล์ เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต

แหล่งข้อมูล
ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย
คัดลอกจาก: เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต
รวบรวมคำอุปมาของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 010312 - โดย คุณ : mayrin [ 10 พ.ย. 2546 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น