การที่เรามีความทุกข์ทั้งหลาย เพราะอะไร?
ท่านพุทธทาสภิกขุ
"นี่ พระพุทธเจ้าท่านจึงเปลี่ยนว่า เรื่องนั้นพักไว้ก่อน พูดเรื่องนี้กันใหม่ว่า แกกําลังมีทุกข์เพราะอะไร? คนนั้นถ้าตอบให้ตรง ตอบให้ถูก ก็ต้องตอบว่า ทุกข์เพราะความอยาก คือ ตัณหา
มีกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ที่นี้ถามว่า ทําไมถึงมีตัณหา? ทําไมถึงไปอยากอย่างนั้น?
มันก็เพราะโง่ ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มันโง่ โง่คืออวิชชา
ดังนั้น ถ้าจะตัดตัณหาเสียให้ได้ ก็๋ต้องศึกษาให้มีความรู้ที่เป็นวิชชาขึ้นมาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คือ ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น เมื่อเห็นความจริงข้อนี้แล้ว กามตัณหาก็ดับไป ภวตัณหาก็ดับไป วิภวตัณหาก็ดับไป
เมื่อตัณหาดับไปแล้ว ความทุกข์ก็ดับไป อวิชชาดับ ตัวเรา คนเราก็ดับ คนเราที่จะเป็นผู้ทุกข์ก็ดับ ความทุกข์ก็ดับ แล้วปัญหาเขลาๆ นอกเรื่อง นอกรีต นอกรอย ว่าคนเราตายแล้วเกิดหรือไม่? มันก็ไม่มี มันก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ในหมู่พุทธบริษัท หรือในวงของพุทธศาสนา ถ้ามัน้เกิดขึ้นมาก็เพราะว่าคนนั้นยังไม่เป็นพุทธบริษัท ยังไม่รู้ว่าจริงว่าคนเรานี้มันเกิดขึ้นเป็นความรู้สึกว่าคนเราขึ้นมาเพราะิอวิชชา
เขาควรจะถามปัญหาว่า "ทําไมจึงมีตัวเราขึ้นมา" แล้วอยากนั่นอยากนี่ อยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราเป็นทุกข์ แล้วเราจะดับทุกข์อย่างไร? เรื่องก็จะเข้าเรื่องของพุทธศาสนา คือ เรื่องดับกิเสสดัณหา ดับอวิชชา แล้วคนเราก็หมดไป เพราะฉะนั้น ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า นักศึกษาหรือนักปฏิบัติแทบทั้งหมดเสียเวลาไปมากมายน่าเสียดายยิ่งในการที่ไปตั้งปัญหาซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา เสียเวลามาถกเถียงกัน เสียเวลางาน เสียประโยชน์แล้วไม่พอ ยังแถมโกรธทะเลาะวิวาทกันด้วยเพราะการเถียงปัญหาข้อนี้
นี่มันไปสนใจในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวพุทธศาสนา ด้วยความเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญหาของพุทธบริษัท เป็นปัญหานอกเรื่องของพุทธบริษัท พุทธบริษัทมีปัญหาแต่เรื่องจะดับกิเสศตัณหา ดับอวิชชา ดับความทุกข์นั่นแหละ แล้วไปสรุปอยู่ที่หลักที่สั้นที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ว่าต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ึความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควร ยืดมั่ยถือมั่น ถ้าผิดไปจากนี้ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่สามารถจะรู้ด้วยปัญญาของเราเองในภายใน เราก็รู้ได้ด้วยการได้ยินได้ฟังหลักของพระพุทธเจ้าไปก่อนว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เป็นอนัตตา หรือเป็นสุญญตา"
พิจารณากันไปเท่าไหร่ จะยิ่งเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นมายา ไม่น่าหลงไหล ไม่น่าอยาก ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ความอยากก็จะบรรเทาเบาบางน้อยลงไปๆ จนกระทั่งหมดสิ้น คือ หมายถึงความทุกข์หมดสิ้น นี่คือ ความรู้ในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติในพุทธศาสนา และถ้าเป็นตัวปัญหา ก็เป็นปัญหาทางพุทธศาสนาที่แท้จริง
ที่มา: www.watklaikangwon.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น