วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เรามีความทุกข์ เพราะอะไร

การที่เรามีความทุกข์ทั้งหลาย เพราะอะไร?

ท่านพุทธทาสภิกขุ
"นี่ พระพุทธเจ้าท่านจึงเปลี่ยนว่า เรื่องนั้นพักไว้ก่อน พูดเรื่องนี้กันใหม่ว่า แกกําลังมีทุกข์เพราะอะไร? คนนั้นถ้าตอบให้ตรง ตอบให้ถูก ก็ต้องตอบว่า ทุกข์เพราะความอยาก คือ ตัณหา

มีกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

ที่นี้ถามว่า ทําไมถึงมีตัณหา? ทําไมถึงไปอยากอย่างนั้น?

มันก็เพราะโง่ ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น มันโง่ โง่คืออวิชชา

ดังนั้น ถ้าจะตัดตัณหาเสียให้ได้ ก็๋ต้องศึกษาให้มีความรู้ที่เป็นวิชชาขึ้นมาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คือ ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น เมื่อเห็นความจริงข้อนี้แล้ว กามตัณหาก็ดับไป ภวตัณหาก็ดับไป วิภวตัณหาก็ดับไป

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โชคดี ที่มีความทุกข์

  โชคดี ที่มีความทุกข์


 


ใครหลายคนชอบคิดไปไกลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง...
สิ่งที่ยังไม่เกิด ความคิดนี่แหละ
ที่บั่นทอนพละกำลังส่วนหนึ่งของความสุข

ที่ควรจะเกิด ควรจะมี ให้ลดน้อยลงไป


บางขณะ เราน่าจะทำชีวิตให้ดีกว่านั้นได้ง่ายๆ
แต่เพราะความคิด ความกังวล
ทำให้สิ่งที่น่าจะง่าย กลายเป็นสิ่งยุ่งยาก
ถ้าความคิดบางอย่าง ยิ่งคิด ยิ่งเศร้า ยิ่งทำให้กังวล
ยิ่งไม่มีความสุข ยิ่งหวาดกลัววันข้างหน้า ก็อย่าไปคิดมันเลย


แค่ทำวันนี้ให้มีความสุข ทำให้ดีที่สุดกับเวลานี้ที่มีโอกาสนี้...
บางที ใครจะรู้ว่า อะไรๆที่ไปกังวลนั้น อาจจะมาไม่ถึงก็ได้..


ชีวิตอาจไม่ยาวนานถึงขนาดนั้น


ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้ จะตื่นหรือเปล่า
อย่ากังวลกับอะไรที่ยังมาไม่ถึง...
มองวันนี้ ทำวันนี้ มีความสุขกับทุกวินาทีนี้ .....
ที่ยังหายใจอยู่ดีกว่า เวลามีพอเสมอสำหรับความสุข .


ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ ชีวิตที่พบความทุกข์ เป็นชีวิตที่แท้...


ไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีการเติบโต
ความทุกข์เป็นพลังขับเคลื่อนให้หลายอย่างเกิด

ไม่มีใครไม่มีความทุกข์ เพราะนั่นคือการเป็นชีวิต
ความทุกข์สอนให้แต่ละคนเข้มแข็งในแง่มุมต่างๆ
ถ้าความทุกข์ไม่เข้ามาหา ก็จะไม่รู้ว่า ความสุขที่แท้เป็นอย่างไร
ไม่มีความทุกข์ ก็ไม่รู้จักความสุข......
เพราะความทุกข์พิสูจน์ความเป็นคน อ่อนแอ หรือเข้มแข็ง
ความทุกข์เป็นสิ่งท้าทายความสามารถ.....


ต่างจากความสุข ที่ทำให้อ่อนแอ มองโลกง่ายๆ แคบๆ


ความสุขเหมือนฝนพรำสาย
อ่อนโยน งดงาม บางเบา แต่ว่างเปล่า ไม่มีการเรียนรู้ใดในความสุข.......
เมื่อใดที่มีความทุกข์ ควรยิ้มรับ และคิดว่าโชคดีที่ได้เจอความทุกข์
ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ได้สงบ ได้สติ ได้ความนิ่ง ได้รู้จักโลก รู้จักตัวเอง
รู้จักการเติบโตทุกๆก้าว


ให้กำลังใจตัวเองมากๆ บอกตัวเองว่า


โชคดีที่วันนี้มีความทุกข์
เพราะเมื่อผ่านความทุกข์ ความสุขก็จะรออยู่เบื้องหน้า...
จงใช้ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิต.



ที่มา: www.thaihomemaster.com

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์

สวัสดีครับ ทุกท่านอาจจะแปลกใจว่าบล็อกนี้นำเสนอแต่เรื่องความสุข แต่ทำไมวันนี้นำเสนอเรื่องความทุกข์ซะงั้น ไม่ต้องแปลกใจครับ เมื่อเราไม่เคยมีทุกข์ จะรู้ได้ไงว่าความสุขเป็นยังไง ถูกต้องไหมครับ แต่เราจะใช้ประโยชน์จากความทุกข์นั้นยังไง ที่จริงแล้วความทุกข์นั้นมีประโยชน์มากมายเลย ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเราต่างหาก ว่าจะทำอย่างไรกับมัน จากที่ได้นำเสนอเรื่องความสุขมาหลายเรื่องแล้ว ผมเลยลองเข้า google ค้นหาเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ดู ก็ได้เห็นบทความดีๆ มากมาย และก็สะดุดแนวคิดของบทความๆหนึ่ง ผมไม่ทราบที่มานะ เพราะว่าเห็นบทความนี้ขึ้นหลายเว็บมาก ก็เลยไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนเขียนเป็นคนแรก แต่ยังไงก็ต้องขอขอบคุณบทความดีๆนี้ด้วย ซึ่งเขาได้ใช้นามปากกาว่า "พี่ชาย" ยังไงก็ต้องขอขอบคุณพี่ชายมากๆนะครับ เรามาติดตามกันเลยว่า พี่ชายท่านนี้เขาเขียนไว้อย่างไรบ้าง ...

ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์
พวกเราทุกคน พวกเราทุกคนคงไม่มีใครที่เกิดมาแล้วไม่เคยประสบกับความทุกข์เลย และบ่อยครั้งที่เรามีความรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ เพื่อหนีความทุกข์ที่เกิดขึ้นบางคนคิดฆ่าตัวตาย บางคนก็พึ่งเหล้า พึ่งยาเสพติด แต่ใครเล่าจะหนีความทุกข์เหล่านั้นไปได้

ความทุกข์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) ทุกข์กายที่เกิดจากร่างกายที่ไม่ปกติ เช่นเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายไม่สมประกอบด้วยเหตุต่างๆ เป็นต้น
2) ทุกข์ใจอันเนื่องมาจากไม่ได้ตามที่ใจคาดหวัง เช่นทำงาน หรือดำเนินชีวิตไม่ได้ตามใจหวัง รักที่ไม่สมหวัง เป็นต้น

ในระหว่างทุกข์กายกับทุกข์ใจ ทุกข์ใจนั้นสำคัญกว่าหลายเท่านัก เพราะคนเราหากมีกำลังใจแล้วแม้กายเป็นทุกข์ ใจก็อาจมีสุขได้ แต่ในทางตรงข้ามหากกายสมบูรณ์แต่ใจอ่อนแอเป็นทุกข์คนเราก็มักจะต้องยอมพ่ายแพ้กับชีวิตกันอย่างง่ายๆ ทุกข์ใจนั้นเกิดจาก “ความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู” ยึดให้เป็นทุกข์ ถือด้วยอารมณ์เป็นความคิดที่ขาดสติ …..คิดมากๆ ก็อยากจะหนีทุกข์ คือไม่อยากให้ตนเองอยู่ในสภาวะที่เป็นทุกข์ ที่จริงแล้วถ้ามัวแต่หนีทุกข์หรือปฎิบัติเพื่อหนีทุกข์ด้วยวิธีต่างๆ เช่นดื่มของมึนเมา เสพยาเสพติด การทำตัวประชดคนใกล้ชิด เป็นต้น ก็ไม่มีวันจะพ้นจากทุกข์ได้ การหนีทุกข์ด้วยการกระทำเลี่ยงทุกข์นั้น จะทำให้ทุกข์หายไปจากจิตใจเพียงชั่วคราว แล้วกลับมาเกิดทุกข์ได้ใหม่ซึ่งอาจจะทุกข์มากกว่าเดิมเสียอีก เช่นทะเลาะกับคนรักก็หันไปหาสุรายาเมา ขับรถเกิดอุบัติเหตุเกิดทุกข์มากกว่าเก่า เป็นต้น

พวกคุณคงคิดว่าผมออกจะเพี้ยนแน่หากผมจะบอกว่า “ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิต” เพราะผมรู้สึกว่าชีวิตที่พบความทุกข์ เป็นชีวิตที่แท้จริง ไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีการเติบโต ความทุกข์เป็นพลังขับเคลื่อนให้หลายอย่างเกิดขึ้น ผมกล้าบอกว่าไม่มีใครไม่มีความทุกข์ เพราะนั่นคือ “ชีวิต” การเผชิญหน้ากับทุกข์ เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง เห็นความเกิดและดับของความทุกข์ทั้งปวง จนในที่สุดก็จะเข้าใจในประโยคที่ว่า "มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดมา และก็มีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป" หากเราสามารถมองเห็นความจริงของทุกข์แล้ว จิตจะปล่อยวางความทุกข์ เห็นความเป็นธรรมดาของทุกข์ที่เกิดขึ้น รู้ว่าไม่นานทุกข์นั้นก็จะต้องดับไปเองตามกฏของธรรมชาติ

ความทุกข์สอนให้แต่ละคนเข้มแข็งในแง่มุมต่างๆ ถ้าไม่มีความทุกข์ เราก็อาจจะไม่รู้จักความสุข ไม่ได้พบมิตรแท้ …..ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้เป็นอย่างไร เพราะความทุกข์พิสูจน์ความเป็นคนอ่อนแอหรือเข้มแข็ง ความทุกข์เป็นสิ่งท้าทายความสามารถ.....ต่างจากความสุข ที่ทําให้เราอ่อนแอ มองโลกง่ายๆ แคบๆ ความสุขเหมือนสายฝนพรํา อ่อนโยน งดงาม เบาบาง แต่ว่างเปล่า ไม่มีการเรียนรู้ใดในความสุขนั้น.. อาหารจะอร่อยได้อย่างไรหากไร้รสชาติจริงไหมครับ…..

...เมื่อใดที่มีความทุกข์ คุณทั้งหลายควรหันหน้ามาเผชิญกับมันด้วยรอยยิ้ม ยิ้มรับที่ได้ทานอาหารที่อร่อยมีรสชาติ และคิดว่าโชคดีที่ได้เจอความทุกข์ ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ได้สงบ ได้สติ ได้ความนิ่ง ได้รู้จักโลก ได้รู้จักตัวเอง ได้รู้จักการเติบโตในทุกๆ ย่างก้าวของชีวิต..... เหล็กหากไม่ได้ผ่านการเผาและการตีเหล็กเหล่านั้นก็ด้อยค่า แต่เพราะเหล็กถูกเผาและตี เหล็กเหล่านั้นก็จะมีคุณค่ามากขึ้นฉันใดก็ฉันนั้น จงให้กําลังใจตัวเองมากๆ บอกตัวเองว่า โชคดีที่วันนี้มีความทุกข์ เพราะเมื่อความทุกข์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ความสุขก็จะรออยู่เบื้องหน้า..

...พวกเราจงใช้ความทุกข์ สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิตกันเถอะ...

By: พี่ชาย

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต

ใบไม้
ขณะนี้เรานั่งอยู่ในป่าที่สงบ ที่นี่ไม่มีลม ใบไม้จึงนิ่ง เมื่อใดที่มีลมพัด ใบไม้จึงไหวปลิว จิตก็ทำนองเดียวกับใบไม้ เมื่อสัมผัสกับอารมณ์มันก็สะเทือนไปตามธรรมชาติของจิต เรายิ่งรู้ธรรมะน้อยเพียงไร ใจก็จะรับความสะเทือนได้มากเพียงนั้น รู้สึกเป็นสุข ก็ตายด้วยความสุข รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ตายด้วยความทุกข์อีกมันจะไหลไปเรื่อย ๆ

น้ำเจือสี
ใจของเราขณะที่เป็นปกติอยู่ เปรียบเหมือนน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาด มีความใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นปกติ ถ้าเราเอาสีเขียวใส่ลงไป เอาสีเหลืองใส่เข้าไป น้ำก็จะกลายเป็นสีเขียว สีเหลืองไป จิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อไปถูกอารมณ์ที่ชอบใจ ใจก็ดีใจก็สบาย เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจแล้ว ใจนั้นก็ขุ่นมัว ไม่สบาย เหมือนกันกับน้ำที่ถูกสีเขียวก็เขียวไป ถูกสีเหลืองก็เหลืองไป เปลี่ยนสีไปเรื่อย

อยู่กับงูเห่า
ขอให้โยมจำไว้ในใจ อารมณ์ทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้มันเหมือนงูเห่าซึ่งมีพิษมาก ถ้ามันฉกคนแล้ว ก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์นี้ก็เหมือนงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทำให้จิตใจของเราไม่เสรี ทำให้จิตใจไขว้เขว จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ปล่อยพิษงูไป
อารมณ์ทั้งหลายเหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรขวาง มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออกมา ไม่ได้ทำอันตรายเรา เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้วก็จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งที่มีพิษอยู่ในตัวมันนั่นเอง

สอนเด็ก
ฉะนั้น การปฏิบัตินี้จึงว่านั่ง นั่นแหละปฏิบัตินั่ง ดูไปมันมีอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว สลับซับซ้อนกันไปเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว อย่าไปให้โทษมันอย่างเดียว ให้รู้จักกาล รู้จักเวลามัน เมื่อถึงคราวสรรเสริญ ก็สรรเสริญมันหน่อย สรรเสริญให้พอดีอย่าให้หลง เหมือนกับสอนเด็กนั่นแหละ บางทีก็เฆี่ยนมันบ้าง เอาไม้เรียวเล็ก ๆ เฆี่ยนมัน ไม่เฆี่ยนไม่ได้ อันนี้บางทีก็ให้โทษมันบ้าง อย่าให้โทษมันเรื่อยไป ให้โทษมันเรื่อยไปมันก็ออกจากทางเท่านั้นแหละ ถ้าให้สุขมันให้คุณมันเรื่อย ๆ มันไปไม่ได้

เด็กซุกซน
เปรียบกับเด็กที่ซุกซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญจนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนี้เอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขา ความเดือดร้อน รำคาญของเราก็หมดไป เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราจึงเปลี่ยนไป เรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวางได้ จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิ ทีนี้ก็หมดปัญหาที่จะต้องแก้

รับแขก
เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไรโบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหน มีที่นั่งเดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน นี่คือพุทโธ ตัวตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ทำความรู้นี้ไว้ จะได้รักษาจิต เรานั่งอยู่ตรงนี้ แขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็ก ๆ โน้น มาทีไรก็มาที่นี่หมด เราจึงรู้จักมันหมดเลย พุทโธอยู่คนเดียว พูดถึงอาคันตุกะ แขกที่จรมาปรุงแต่งต่าง ๆ นานา เราให้เป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละเรียกว่า เจตสิก มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เองเราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้ว มันก็ไม่มีที่นั่งมันมาที่นี่ มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง ครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไรก็พบผู้ที่นั่งอยู่ ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้ง เพียงพูดกันอยู่ที่นั่น เราก็จะรู้จักหมดทุกคน พวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้น มันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละ

บุรุษจับเหี้ย
วิธีกำหนดอารมณ์ จับอารมณ์ ให้รู้จักจิตของตนให้รู้จักอารมณ์ของตน เปรียบโดยวิธีที่บุรุษทั้งหลายจับเหี้ย เหี้ยตัวหนึ่งเข้าไปในโพรงจอมปลวกที่มีรูอยู่หกรู ก็ปิดรู้นั้นๆเสียห้ารู เหลือรูเดียวให้เหี้ยออก แล้วนั่งจ้องมองที่รูเดียวนั้น เหี้ยออกมาก็จับได้ ฉันใด การกำหนดจิตก็ฉันนั้น ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย เหลือแต่จิตอันเดียวเปิดไว้ คือ การสำรวมสังวร กำหนดจิตอย่างเดียว
การภาวนาก็เหมือนกับบุรุษจับเหี้ย คือกำหนดจิตให้อยู่ที่ลมหายใจ มีสติ ระมัดระวังรู้อยู่แล้ว กำลังทำอะไร มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น คือรู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตขณะนั้น ทำให้รู้จัก

แมงมุม
ได้ไปเห็นแมงมุมเป็นตัวอย่าง แมงมุมทำรังของมันเหมือนข่าย มันสายข่ายไปขึงไว้ตามช่องต่าง ๆ เราไปนั่งพิจารณาดูมัน ทำข่ายขึงไว้เหมือนจอหนัง เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวเองเงียบอยู่ตรงกลางข่าย ไม่วิ่งไปไหน พอมีแมลงวันหรือแมลงอื่นบินผ่านข่ายของมัน พอถูกข่ายเท่านั้น ข่ายก็สะเทือน พอข่ายสะเทือนปุ๊บ มันก็วิ่งออกจากรังทันที ไปจับตัวแมลงไว้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันก็เก็บตัวของมันไว้ที่กลางข่ายเหมือนเดิม ไม่ว่าจะมีผึ้งหรือแมลงอื่นใดมาถูกข่ายของมัน พอข่ายสะเทือน มันก็วิ่งออกมาจับแมลงนั้น แล้วก็กลับไปเกาะนิ่งอยู่ที่กลางข่ายไม่ให้ใครเห็นทุกทีไป เห็นแมงมุมทำอย่างนี้ เราก็มีปัญญาแล้ว อายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใจนี้อยู่ตรงกลาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย แผ่พังพานออกไป อารมณ์นั้นเหมือนแมลงต่าง ๆ พอรูปมาก็ถึงตา เสียงมาก็ถึงหู กลิ่นมาก็ถึงจมูก รสมาก็ถึงลิ้น โผฏฐัพพะมาก็ถึงกาย ใจเป็นผู้รู้จัก มันก็สะเทือนถึงใจ แค่นี้ก็เกิดปัญญาแล้ว
เราจะอยู่ด้วยการเก็บตัวไว้ เหมือนแมงมุมที่เก็บตัวไว้ในข่ายของมัน ไม่ต้องไปไหน พอแมลงต่าง ๆ มันผ่านข่าย ก็ทำให้สะเทือนถึงตัว
รู้สึกได้ก็ออกไปจับแมลงไว้ แล้วก็กลับอยู่ที่เดิม ดูแมงมุมแล้วก็น้อมเข้ามาหาจิตของเรา มันก็เหมือนกันเท่านั้น ถ้าจิตเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันกว้าง ไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข์อีกแล้ว ก็เห็นชัดได้อย่างนี้ มันก็ได้ความเท่านั้นแหละ จะทำอะไรอยู่ก็สบาย ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วมีแต่การภาวนาจะเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น

คลื่นกระทบฝั่ง
เรื่องทุกข์เรื่องไม่สบายใจนี่มันก็ไม่แน่หรอกนะ มันเป็นของไม่เที่ยง เราจับจุดนี้ไว้ เมื่ออาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นมา เรารู้มันเดี๋ยวนี้ เราวาง
กำลังอันนี้จะค่อย ๆ เห็นทีละน้อย ๆ เมื่อมันกล้าขึ้น มันข่มกิเลสได้เร็วที่สุด ต่อไปมันเกิดตรงนี้ มันดับตรงนี้ เหมือนกับน้ำทะเลที่กระทบฝั่ง เมื่อขึ้นมาถึงฝั่งมันก็ละลายเท่านั้น คลื่นใหม่มาอีก มันก็ละลายต่อไปอีก มันจะเลยฝั่งไปไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ฝั่งทะเลอารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามามันก็เท่านั้นแหละ

เลื่อย
แต่เมื่อมันรู้เห็นหมดแล้ว ธรรมะก็ไม่ได้แบกเอาไปด้วยอย่างเลื่อยคันนี้ เขาจะเอาไปตัดไม้ เมื่อเขาตัดไม้หมดแล้ว อะไรก็หมดแล้ว เลื่อยก็เอาวางไว้เลย ไม่ต้องไปใช้อีก เลื่อยก็คือธรรมะ ธรรมะต้องเอาไปปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล ถ้าหากว่ามันเสร็จแล้ว ธรรมะที่อยู่ก็วางไว้ เหมือนเลื่อยที่เขาตัดไม้ ท่อนนี้ก็ตัด ท่อนนี้ก็ตัด ตัดเสร็จแล้วก็วางไว้ที่นี่ อย่างนั้น เลื่อยก็ต้องเป็นเลื่อย ไม้ก็ต้องเป็นไม้ นี่เรียกว่าถึงหยุดแล้ว ถึงจุดของมันที่สำคัญแล้ว สิ้นการตัดไม้ ไม่ต้องตัดไม้ ตัดพอแล้ว เอาเลื่อยวางไว้

ดาวน์โหลดไฟล์ เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต

แหล่งข้อมูล
ธรรมะเชิงอุปมาอุปมัย
คัดลอกจาก: เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต
รวบรวมคำอุปมาของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 010312 - โดย คุณ : mayrin [ 10 พ.ย. 2546 ]

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ไม่ถูก ไม่ผิด

ลองอ่านเรื่องราวของ 2 พี่น้องนี้ดูนะครับ ให้ข้อคิดดีมาก ผู้แต่งเขายกตัวอย่างได้เห็นภาพชัดเจนจริงๆ
.
.

มีพี่น้องที่เคยฝึกจิตแล้วคู่หนึ่ง.. ขับรถไปด้วยกัน น้องชอบขับรถหลงทาง พี่ก็ชอบว่า
"หลงอีกแล้ว หลงประจำเลย! "
น้องชายก็บอกว่า " แหม คนเราก็หลงกันได้"
"หลงก็หลง แต่นี่เคยไปแล้วยังหลงอีก! "
พูดไปพูดมา น้องชายก็รำคาญว่า พี่สาวขี้บ่น พี่สาวก็รำคาญว่า น้องชายขับรถหลงประจำ
ทำให้เสียเวลา บอกว่าจำทางได้ ก็จำผิด บอกดีๆ ก็หาว่าบ่น จะไม่บอกก็ขับรถผิดไปเรื่อยๆ
แล้วจะให้ทำอย่างไร

..........................................................................

วันหนึ่ง .. พี่สาวเล่าความอึดอัดให้ฟัง ก็บอกเขาว่า
เราเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนมุมมองใหม่ได้
น้องชายขับรถผิด ก็อย่าว่าคิดหลงทาง คิดว่า เราเรียนรู้เส้นทางใหม่
เราเปลี่ยนเหตุการณ์ไม่ได้ แต่เปลี่ยนมุมมองให้รับกับสถานการณ์นั้นได้

..........................................................................

วันต่อมา คนที่เป็นพี่สาวก็ยิ่มแย้ม เข้ามาเล่าประสบการณ์แปลกใหม่ ที่เกิดขึ้นให้ฟัง
เธอเล่าว่า นั่งรถไปกับน้องชาย น้องชายก็ขับรถผิดเหมือนเดิม...
กำลังจะว่าน้องชาย แต่นึกถึงคำที่พระอาจารย์สอนไว้ว่า
เกิดอะไรให้นิ่งก่อน .. ดูจิตก่อน พอนิ่ง .. ดูจิต ก็ตั้งหลักได้ แล้วก็เปลี่ยนมุมมองใหม่
เราเรียนรู้เส้นทางใหม่ ไม่คิดว่าหลงทาง.. พอเปลี่ยนมุมมองแล้ว
แทนที่จะโมโห กลับมองเส้นทางไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับเส้นทางที่เข้ามา
เอ๊ะ .. ทางนี้ไม่เคยเข้ามา แต่ทะลุไปในเส้นทางที่สามารถไปจุดหมายที่เราต้องการได้

..........................................................................
ขณะที่มองทางอยู่ น้องชายก็พูดขึ้นว่า
" พี่ครับ ผมขอโทษด้วยนะครับ ขับรถผิดทางอีกแล้ว"
พี่สาวได้ฟังก็บอกว่า " ไม่เป็นไร ทางนี้ก็ไปได้เหมือนกัน ..พี่ก็ไม่รู้มาก่อนเลย"
น้องชายก็พูดด้วยน้ำเสียงสบายใจว่า " อ้าว พี่ไม่ได้โกรธผมเหรอ"
แล้วสองพี่น้องก็นั่งรถไปด้วยความสุขใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน...

..........................................................................
เราเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์นี้..
เรื่องราวก็เรื่องราวเดิม พอนิ่งดูจิต เปลี่ยนมุมมองใหม่ เปลี่ยนวิธีคิด
เหตุการณ์ในชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเอง..

ที่มา: forward mail

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทุกข์! เศร้า! เหงา! เครียด! แล้วจะแก้อย่างไรดีหล่ะ

จากที่ผมได้เดินชมนิทรรศการรณรงค์ป้องเอดส์ในวันเอดส์โลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก็มีกิจกรรมต่างๆมากมาย ซึ่งนอกเหนือจากกิจกรรมรณรงค์เรื่องเอดส์ ที่มีการป้องกันการติดเชื้อ เช่นสาธิตการใช้ถุงยาง แจกถุงยาง แจกเจลหล่อลื่นชนิดน้ำ แล้ว ยังมีการกิจกรรมเกี่ยวกับสร้างความสุข ลดความเครียด การคิดอย่างสร้างสรรค์ พลังสู่ความสำเร็จ และอื่นๆอีกมากมาย ผมได้เดินดูเกือบทุกบูท แต่มีเวลาเดินชมน้อยไปหน่อย ก็เลยใช้วิธีการหยิบแผ่นพับ โบรชัวร์ มาอ่าน ใครจะเลียนแบบผมก็ได้นะ มีอะไรก็หยิบมาก่อน มีเวลาค่อยอ่าน แต่ก่อนผมเคยหยิบมา หยิบมาแช่เอาไว้ แต่ครั้งนี้ไม่รู้ด้วยเหตุอันใด ไม่ได้เอามาทิ้งเฉยๆ อ่านด้วย เห็นว่ามีคุณค่าและเป็นประโยชน์ ก็เลยนำมาเผยแพร่ต่อให้ท่านผู้อ่านที่แวะเวียนผ่านมาเยี่ยมบล็อกแห่งความสุขนี้ ครั้งนี้ขอหยิบหัวข้อ "ทุกข์! เศร้า! เหงา! เครียด! แล้วจะแก้อย่างไรดีหล่ะ" ก็จะเป็นวิธีการจัดการกับ ความทุกข์! ความเศร้า! ความเหงา! ความเครียด! เรื่องพวกนี้ถ้าเกิดเป็นมนุษย์บนโลกนี้แล้ว ยังไงก็ต้องเจอ เมื่อมันหนียังไงก็ไม่พ้น เราจะมีวิธีจัดการยังไง ติดตามอ่านได้เลยครับ

ทุกข์! เศร้า! เหงา! เครียด! แล้วจะแก้อย่างไรดีหล่ะ

1) หนีออกจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด
2) หากิจกรรมที่เราสนใจเพื่อเบี่ยงเบนสถานการณ์ความเครียดนั้นๆ
3) หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
4) แบ่งเวลาระหว่างเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวและครอบครัวให้ลงตัว
5) จัดสมดุลการทำงานให้เหมาะสมในแต่ละวันไม่หนักหรือเบาจนเกินไป
6) เมื่อรู้สึกเครียดคุณควรหางานอดิเรกทำเพื่อผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเองอย่างง่ายๆ เช่นฝึกสมาธิ ฝึกหายใจ ฟังเพลง ปลูกต้นไม่ เป็นต้น
7) พูดคุยกับบุคคลที่วางใจได้

ที่มา : แผ่นพับสำนัสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข